ประเภท


ประเภทของหลักสูตร

หลักสูตรอาจจำแนกได้หลายประเภท โดยอาศัยเกณฑ์ที่แตกต่างกันตามที่ ดุษฎี (2537) ดังนี้

1.      กลุ่มที่จำแนกตามหมวดหมู่เนื้อหาสาระ สามารถแยกหลักสูตรออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
1.1   หลักสูตรรายวิชา (discrete-discipline curriculum, subject matter, curriculum, separate- subject curriculum) หลักสูตรประเภทนี้จัดประสบการณ์ส่วนใหญ่เรียงลำดับความยากง่ายเป็นรายวิชาย่อยๆ แยกต่างหากจากกัน
1.2   หลักสูตรสัมพันธ์วิชา (discrete curriculum) หลักสูตรประเภทนี้จัดประสบการณ์เป็นกลุ่มเล็กๆ โดยจัดรายวิชาย่อยที่มีความสัมพันธ์กันเข้าไว้ด้วยกัน แต่ยังคงความเป็นรายวิชาย่อยอยู่
1.3   หลักสูตรหมวดวิชา (broad-fields curriculum, fused curriculum) หลักสูตรประเภทนี้คล้ายกับหลักสูตรสัมพันธ์วิชา แต่จัดรายวิชาที่คิดว่าเป็นจำพวกเดียวกันเข้าไว้ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น
1.4   หลักสูตรแกน (core curriculum) จะยกสาระจำนวนหนึ่งในหลักสูตรนั้นขึ้นเป็นแกนในขณะที่สาระอื่นเป็นส่วนประกอบ
1.5   หลักสูตรบูรณาการ (integrated curriculum) จะรวมประสบการณ์ทุกรายวิชามาสัมพันธ์กันจนไม่ปรากฎเด่นชัดว่าเป็นวิชาใด จัดเป็นประสบการณ์ต่อเนื่อง อาจอาศัยประเด็นหรือปัญหาบางอย่างเป็นแกน แล้วรวมทุกวิชาที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน

2.      กลุ่มที่จำแนกตามบทบาทของผู้สอนและผู้เรียน ให้ความสำคัญกับกระบวนการการเรียนการสอน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
2.1   หลักสูตรที่เน้นสาระวิชา (subject-centered curriculum) จะเน้นบทบาทของผู้สอนในการถ่ายทอดสาระวิชา คือ หากการสอนมีประสิทธิภาพผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้
2.2   หลักสูตรที่เน้นผู้เรียน (child-centered curriculum) จะเน้นบทบาทของผู้เรียนในการเรียน คือ ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเรียนอย่างมีส่วนร่วม ลงมือทำเอง เข้าหลัก Learning by doing

3.      กลุ่มที่จำแนกตามประสบการณ์ที่ยึด แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
3.1   หลักสูตรที่เน้นกระบวนการทางสังคมและการดำเนินชีวิต (curriculum base on social process and life function) เป็นหลักสูตรบูรณาการโดยยึดสภาพการณ์ที่ผู้เรียนเผชิญอยู่
3.2   หลักสูตรที่เน้นกิจกรรมและประสบการณ์ (the activity and experience curriculum) เป็นหลักสูตรบูรณาการสาระ แต่จะเน้นให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรม และมีประสบการณ์ด้วยตนเอง
3.3   หลักสูตรเอกัตภาพ (individualized curriculum, the personalized curriculum) เป็นหลักสูตรบูรณาการสาระ แต่เป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับการเรียนเป้นรายบุคคลเพื่อให้พัฒนาตนเองอย่างอิสระ
หลักสูตรมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการแบ่ง ซึ่งหลักสูตรประเภทต่างๆ มัลักษณะข้อดีและข้อจำกัดภายในตนเอง ดังนั้นนักพัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ก่อนเลือกประเภทและพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อส่งผลให้หลักสูตรนั้นมีคุณค่า ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (นพเก้า ณ พัทลุง,  ม.ป.ป.:8-11)


บรรณานุกรม
นพเก้า ณ พัทลุง.  (ม.ป.ป.).  การพัฒนาหลักสูตร:หลักการและแนวปฏิบัติ.  
       มหาวิทยาลัยทักษิณ: ภาควิชาหลักสูตรและการสอน.








องค์ประกอบของหลักสูตร

นักการศึกษามีความเห็นเกี่ยวกับองค์ประกอบของหลักสูตรในลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้
                Curry  and Temple (1992) กล่าวถึงองค์ประกอบของหลักสูตร ดังนี้
1. ปรัชญา เป้าหมายของโรงเรียน ซึ่งกำหนดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและท้องถิ่น
2. คุณลักษณะของโรงเรียนและผู้เรียนที่คสดหวัง
3. มาตรฐานด้านเนื้อหาหรือสิ่งที่คาดว่าผู้เรียนจะต้องเรียนรู้
4. มาตรฐานการประเมินการปฏิบัติ
5. ประเด็น (themes) และมโนทัศน์ (concepts) ของกลุ่มสาระวิชา
6. การพัฒนาวิชาชีพ/กลวิธีการสอน
7. กลวิธีการสอนโดยใช้เทคโนโลยี
8. ตัวอย่างโปรแกรม หน่วยการเรียนรู้
9. เกณฑ์วัสดุการสอนที่ใช้ในการเรียนการสอน
10. กลวิธีการบูรณาการเนื้อหาสาระต่างๆ
Blank and Pechman (1995) กล่าวถึงกรอบของหลักสูตร ดังนี้
1.วิสัยทัศน์ที่เป็นผลมาจากกรอบของรัฐและสัมพันธ์กับความต้องการของรัฐ
2. เนื้อหาวิชาที่คาดหวัง/มาตรฐาน เป็นการผสมผสานระหว่างหัวข้อวิชาและทักษะที่สะท้อนถึงมทัศน์ที่ระบุในเอกสารระดับชาติ
3. วิชาครูและการปฏิบัติของครูในการผสมผสานกับการนำเสนอเนื้อหาวิชา
4. การเชื่อมโยงกับกฎหมาย เช่นจุดประสงค์ตามนโยบายส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ (opportunity-to-learn objectives) หรือมาตรฐานการศึกษา
5. การเชื่อมโยงกับนโยบาย โดยเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาและการประเมินผลผู้เรียน การพัฒนาวิชาชีพ การเตรียมผู้สอนและใบรับรอง การบริการสนับสนุน การปกครองโรงเรียนทเครื่องอำนวยความสะดวก การมีส่วนร่วมของชุมชน และส่วนอื่นๆ ของนโยบาย
6. ผลการปฏิบัติที่คาดหวัง (performance expectations) มาตรฐานและการแนะนำการใช้รูปแบบการประเมินผลทางเลือก (alternative forms of assessment)
7. การเทคโนโลยีและเครื่องมือในชั้นเรียน
Schreiber (2004) กล่าวว่า หลักสูตรประกอบด้วยปรัชญาของเนื้อหาวิชา สาระ เป้าหมายของโปรแกรม ขอบเขตและการลำดับเนื้อหาวิชา ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและเครื่องมือการประเมินผล


ธำรง (2542) กล่าวถึงองคืประกอบของหลักสูตร ดังนี้
1. เป้าประสงค์และนโยบายการศึกษา (education goals and policies) หมายถึง สิ่งที่รัฐต้องการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในเกี่ยวกับการศึกษา
2. จุดหมายของหลักสูตร (curriculum aims) หมายถึง ผลส่วนรวมที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียน หลังจากเรียนหลักสูตรไปแล้ว
3. รูปแบบและโครงสร้างหลักสูตร (types and structures) หมายถึง ลักษณะและแผนผังที่แสดงการแจกแจงวิชาหรือกลุ่มวิชาหรือกลุ่มประสบการณ์
4. จุดประสงค์ของวิชา (subject objective) หมายถึง ผลที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียนหลังจากที่ได้เรียนวิชานั้นไปแล้ว
5. เนื้อหา (content) หมายถึง สิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ทักษะและความสามารถที่ต้องการให้มี รวมทั้งประสบการณ์ที่ต้องการให้ได้รับ
6. จุดประสงค์ของการเรียนรู้ (instructional objective) หมายถึง สิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ได้มีทักษะและความสามารถ หลังจากที่ได้เรียนรู้เนื้อหาที่ได้กำหนดไว้
7. ยุทธศาสตร์การเรียนการสอน (instructional strategies) หมายถึง วิธีการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมและมีหลักเกณฑ์ เพื่อให้บรรลุผลตามจุดประสงค์ของการเรียนรู้
8. การประเมินผล (evaluation) หมายถึง การประเมินผลการเรียนรู้เพื่อใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนและหลักสูตร
9. วัสดุหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน (curriculum materials and instructional media) หมายถึง เอกสารสิ่งพิมพ์ แผ่นฟิล์ม แถบวีดิทัศน์ ฯลฯ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์โสตทัศนศึกษา เทคโนโลยีการศึกษาและอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพและประสิทธิภาพการเรียนการสอน
กรมวิชาการ(2542) องค์ประกอบที่สำคัญของหลักสูตรไว้ ดังนี้
1. จุดมุ่งหมาย ได้แก่ จุดมุ่งหมายของหลักสูตร วัตถุประสงค์ทั่วไป วัตถุประสงค์เฉพาะวิชา จุดประสงค์การเรียนการสอน
                2. เนื้อหาและประสบการณ์ ซึ่งจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ เพื่อให้เกิดความรู้ ทักษะเจตคติ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์จามจุดมุ่งหมาย
                3. กิจกรรมการเรียนการสอน เป็นองค์ประกอบในกระบวนการจัดการเรียนการสอนควรมีลักษณะเป็นกระบวนการ
                4. การนำหลักสูตรไปใช้ มุ่งไปที่การแปลงหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอนในระดับโรงเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะตามจุดมุ่งหมายที่หลักสูตรกำหนดไว้
                5. การประเมินผล ประกอบด้วยการวัดและประเมินผลการเรียนการสอน และการประเมินผลหลักสูตร
                รุจิร์ (2545) กล่าวว่า องค์ประกอบของหลักสูตร คือ ส่วนที่ภายใน และประกอบเข้ากันเป็นหลักสูตร เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ความหมายของหลักสูตรสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน การประเมินผล และการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรไปด้วย
                บุญชม (2546) กล่าวว่า หลักสูตรมีองค์ประกอบพื้นฐาน 4 องค์ประกอบ คือ จุดประสงค์ สาระความรู้ประสบการณ์ กระบวนการเรียนการสอน และการประเมินผล
                จากความหมายของหลักสูตร ซึ่งครอบคลุมถึงเอกสารและการจัดการเรียนรู้ของผู้สอนกับการเรียนของผู้เรียน อาจจำแนกองค์ประกอบของหลักสูตรเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นเอกสาร ซึ่งประกอบด้วย จุดมุ่งหมายและเนื้อหา และส่วนของการจัดการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยการนำหลักสูตรไปใช้และประเมินผลหลักสูตร ดังนี้
1.    จุดมุ่งหมาย (objective) คือสิ่งที่หลักสูตรต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนหลังจากที่จบหลักสูตรไปแล้ว หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นความคาดหวังของหลักสูตรก็ได้
2.       เนื้อหา (contents) คือ สิ่งที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้
3.       การนำหลักสูตรไปใช้ (curriculum implementation) คือการนำเอกสารหลักสูตรไปใช้ปฏิบัติจริง
4.    การประเมินผล (evaluation) คือ การตรวจสอบว่าหลักสูตรนั้นบรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด (นพเก้า ณ พัทลุง,  ม.ป.ป.:4-7)


บรรณานุกรม
นพเก้า ณ พัทลุง.  (ม.ป.ป.).  การพัฒนาหลักสูตร:หลักการและแนวปฏิบัติ.  
       มหาวิทยาลัยทักษิณ: ภาควิชาหลักสูตรและการสอน.