ความหมาย

ความหมายของหลักสูตร

               หลักสูตรมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า “Curriculum” ซึ่งมาจากคำในภาษาละตินว่า “Currere” แปลว่า ทางวิ่งหรือ ลู่ที่นักวิ่ง วิ่งเข้าสู่ชัยชนะ(R.C.Das,etal. NCERT,1984:4 อ้าอิงใน ธำรง บัวศรี.2542:2) เมื่อพิจารณาความหมายของหลักสูตรตามช่วงระยะเวลาต่างๆ พบว่าในสมัยก่อน ค.ศ.1920 บ็อบบิทท์ (Botbit.1918: อ้างอิงใน สงัด อุทรานันท์. 2530:70) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ในลักษณะของรายการเนื้อหาวิชาที่จัดสอนในโรงเรียน ในระหว่างปี ค.ศ.1920-1970 นักศึกษาหลายคนได้กล่าวว่าหลักสูตรคือกลุ่มประสบการณ์ที่โรงเรียนจัดให้แก่เด็กนักเรียน โดยทรัมพ์และมิเลอร์ (Trump and Miller.1968. อ้างอิงใน สงัด อุทรานันท์. 2532:12) เห็นว่าหลักสูตรเป็นกิจกรรมการสอนที่จัดให้แก่เด็ก สำหรับเลวิสและมิลล์ (Lewis and Miel.1972:86) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า หมายถึงสิ่งที่สังคมคาดหมายยและมุ่งหวังให้เกิดกับเด็ก ทาบา (Taba.1962:10-11) แสดงความเห็นว่าหลักสูตร คือสิ่งสื่อกลางหรือวิถีทางที่จะนำเด็กไปสู่จุดหมายปลายทาง แมคเคนซี (Gorden N. Mackenzinne.1964:402 อ้างอิงใน สงัด อุทรานันท์. 2530:74) กล่าวถึงความหมายของหลักสูตร ในลักษณะของสัญญาหรือข้อผูกพัน ซึ่งหมายถึงการที่ผู้เรียนได้พบกับบุคคลหรือสิ่งต่างๆ มีการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วมีสัญญาว่าต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้ต่อกัน เป็นการมีส่วนร่วมระหว่างครู เพื่อนนักเรียน สิ่งแวดล้อม วัสดุอุปกรณ์การเรียน เนื้อหาวิชา ความคิด หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ต่อมาภายหลัง ค.ศ.1970 กู๊ด ได้ให้ความหมายของหลักสูตร 3 ประการ ดังนี้

1.   หลักสูตร คือ เนื้อหาวิชาที่จัดไว้เป็นระบบให้ผู้เรียนได้ศึกษา
2.   หลักสูตร คือ เค้าโครงทั่วไปของเนื้อหาหรือสิ่งเฉพาะที่จะต้องสอนโดยโรงเรียนเป็นผู้จัดให้กับเด็ก เพื่อให้มีความรู้จบชั้นหรือรับใบประกาศนียบัตร
3.   หลักสูตร คือ กลุ่มวิชาและการจัดประสบการณ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งนักเรียนได้เล่าเรียนภายใต้คำแนะนำของโรงเรียน และสถาบันการศึกษา

จากความหมายของหลักสูตรสามารถสรุปได้ว่า หลักสูตรคือ การบูรณาการศิลปะการเรียนรู้และประมวลผลประสบการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถนำไปสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามสิ่งที่สังคมคาดหวัง และมีการกำหนดแผนงานไว้ล่วงหน้า โดยสามารถปรับปรุง พัฒนา ให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนได้มีความรู้ ความสามารถสูงสุด ตามศักยภาพของแต่ละคน (ฆนัท ธาตุทอง,  2550:3-4)

บรรณานุกรม
ฆนัท ธาตุทอง.  (2551).  เทคนิคการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา.
       พิมพ์ครั้งที่ 4.  นครปฐม: เพชรเกษมการพิมพ์.